สะพานแห่งกาลเวลา : อันตรายของโควิด-19 โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์  ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอพญาเม็งราย | Smart Site เว็บไซต์สำเร็จรูป






          กําลังจะครบรอบปีที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อยู่รอมร่อ นักวิทยาศาสตร์ยังคง “พิศวง” อยู่กับเชื้อโรคอันตรายตัวใหม่นี้อยู่ในหลายๆ ด้านแม้ว่าในหนึ่งปีที่ผ่านมา นักวิจัย แพทย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดเริ่มจะกระจ่างเกี่ยวกับเจ้าไวรัส “ซาร์ส-โควี-2” นี้มากกว่าเดิมไม่ใช่น้อยที่ต้องถือว่าประสบความสำเร็จมากและเร็วเกินคาดก็คือ การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคนี้ ที่สร้างสถิติประสบความสำเร็จอย่างเหลือเชื่อในระยะเวลาสั้นมากๆ เมื่อเทียบกับการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ ที่ผ่านมา ซึ่งต้องใช้เวลานานหลายปีเป็นข้อพิสูจน์อีกครั้งว่า มนุษย์เรามีคำตอบให้กับสถานการณ์ท้าทายสุดขีดได้เสมอหากต้องการทำเช่นนั้น  เมื่อตอนเกิดการแพร่ระบาดใหม่ๆ ประเด็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดประเด็นหนึ่ง เป็นเรื่องว่าด้วยอันตรายของ โรคโควิด-19 เมื่อเทียบกับอันครายจากโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีการแพร่ระบาดตามฤดูกาลทุกปี มาถึงตอนนี้ หลายๆ คนคงตระหนักแล้วว่า โควิด-19 น่ากลัวกว่าไข้หวัดใหญ่มากนัก แม้ว่าจะยังไม่มีข้อมูลในเชิงประจักษ์ก็ตามที

                 รายงานผลการวิจัยของทีมวิจัยจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติฝรั่งเศส (INSERM) ซึ่งนำโดย แคทเธอรีน ควอนแต็ง ศาสตราจารย์ด้านชีวสถิติและชีวสารสนเทศศาสตร์ประจำโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยดิฌง ในประเทศฝรั่งเศส ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการด้านการแพทย์ เดอะ แลนเซท เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมนี้ ไม่เพียงตอกย้ำความเข้าใจดังกล่าวว่าถูกต้อง แต่ยังแสดงให้เห็นถึงด้วยว่า โควิด-19 ร้ายแรงกว่าไข้หวัดใหญ่หลายเท่าตัว ทีมวิจัยตรวจสอบกรณีดังกล่าวโดยอาศัยการเปรียบเทียบข้อมูลที่เป็นข้อมูลสถิติแห่งชาติของฝรั่งเศส 2 ชุดเข้าด้วยกัน ชุดแรกเป็นข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลในประเทศฝรั่งเศสในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงสิ้นเดือนเมษายนปีนี้ ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 89,530 คน ชุดที่สองเป็นข้อมูลของผู้ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลระหว่างเดือนธันวาคม 2018 จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ตามฤดูกาลการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ในฝรั่งเศสที่เกิดจากไวรัสอินฟลูเอนซา ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 45,819 คน  ผลการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งสองชุด ทีมวิจัยพบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตลงในระหว่างการแพร่ระบาดระลอกแรกในยุโรป ซึ่งบรรดาแพทย์ยังไม่มีวิธีการและประสบการณ์ในรักษาเยียวยา มากถึง 16.9เปอร์เซ็นต์ เทียบกันแล้วมากกว่าอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียง 5.8 เปอร์เซ็นต์ ถึงเกือบ 3 เท่าตัว

            ศาสตราจารย์ควอนแต็งระบุว่า ตัวเลขที่ว่านั้นน่าทึ่งอย่างมาก เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ฤดูกาลไข้หวัดใหญ่ระบาดในช่วง 2018-2019 ที่ว่านั้น เป็นการแพร่ระบาดรุนแรงที่ทำให้มีคนเสียชีวิตมากที่สุดในรอบ 5 ปีของฝรั่งเศสอีกด้วย งานวิจัยชิ้นนี้ยังชี้ให้เห็นว่าเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว พบว่า จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนั้นมากกว่าผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ถึง 2 เท่าตัว เหตุผลส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะในร่างกายของผู้ป่วยอาจมีภูมิคุ้มกันอยู่ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเพราะเคยติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซามาแล้วในอดีตหรือเป็นเพราะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันก็ตามที ทีมวิจัยยังได้วิเคราะห์เพื่อนำสัดส่วนของผู้ป่วยที่มีอาการหนักจนต้องเข้ารับการรักษาตัวในห้องไอซียู หรือห้องอภิบาลผู้ป่วยหนักมาเปรียบเทียบกัน พบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ต้องเข้าไอซียูในสัดส่วนที่สูงกว่ามาก คือ 16.3 เปอร์เซ็นต์เทียบกับ 10.8 เปอร์เซ็นต์ของไข้หวัดใหญ่ นอกจากนั้นยังจำเป็นต้องพักรักษาตัวอยู่ในห้องไซียู เฉลี่ยแล้วนานกว่าเกือบสองเท่าตัวอีกด้วย กล่าวคือ เฉลี่ยแล้วผู้ป่วยโควิดต้องอยู่ไอซียู 15 วัน ส่วนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ใช้เวลาในไอซียูเฉลี่ย 8 วันเท่านั้น ตัวเลขเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่ โควิด-19 มีสัดส่วนต่ำกว่าตัวเลขไข้หวัดใหญ่ก็คือ อัตราส่วนของผู้ป่วยที่เป็นเด็กและเยาวชน อายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา สัดส่วนของผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นเด็กและเยาวชน (ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล) มีเพียง 1.4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในขณะที่ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เป็นเด็กและเยาวชนมากถึง 19.5 เปอร์เซ็นต์

            สิ่งที่งานวิจัยชิ้นนี้บ่งบอกไว้ชัดเจนก็คือ โควิด-19 เป็นอันตรายกว่าไข้หวัดใหญ่มาก และยังก่อให้เกิดอาการป่วยได้หนักหน่วงรุนแรงกว่าอีกด้วย คนไทยเรากว่าจะมีวัคซีนโควิด-19 ใช้ก็อาจต้องรอเวลาอีกปีครึ่งปี